Setup Safe Space

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจัดเวิร์คช็อปออนไลน์ผ่าน Zoom ซึ่งการดีไซน์เวิร์คช็อปจะใช้ Mural เป็นสื่อกลางในการแชร์ประสบการณ์ระหว่างกันในห้องเรียน ระยะเวลาเรียนแต่ละคลาสก็ 1 วันเต็ม โดยที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม อาจจะไม่ได้รู้จักกันมาก่อน หรือ อาจจะรู้จักกันมาก่อนก็ได้ ถ้าเกิดเป็นเจ้านาย ลูกน้อง จะทำยังไง บางที เจ้านายก็อาจจะไม่มั่นใจเวลาแสดงความเห็นก็ได้ เพราะมีลูกน้องอยู่ด้วย หรือ ในทางตรงกันข้าม ลูกน้องก็อาจไม่กล้าแสดงความเห็นเพราะเจ้านายอยู่ด้วยก็ได้เหมือนกัน ความแตกต่างสามารถสร้างความไม่สบายใจได้ทั้งหมด เช่น เป็นคนเก่าแก่ขององค์กร เป็นคนใหม่ เด็กกว่า แก่กว่า เจ้านาย ลูกน้อง คนต่างทีม คนทีมเดียวกัน

เอ แล้วมันจะเวิร์คมั้ยนะ หรือว่า เค้าจะโต้ตอบในห้องเรียนขนาดไหน อย่างน้อยก็อยากเซตอัพพื้นที่เริ่มต้นให้ทุกคนรู้สึกว่าสามารถแชร์ในคลาสเรียนได้ ซึ่งเป็นที่มาของบันทึกประจำวันนี้

ด้วยความกังวล ก็เลยดีไซน์ส่วนการเริ่มคลาสเรียน ขึ้นมา 3 ส่วน คือ เช็คความรู้สึกปลอดภัย ทำให้รู้สึกปลอดภัย และก็เช็คอีกครั้ง ว่าความรู้สึกเป็นยังไง แบบเร็วๆ

การเช็คความปลอดภัย

เช็คความรู้สึกปลอดภัยครั้งแรก วัตถุประสงค์คือดูสภาพปัจจุบันกันก่อน ว่าสภาพบรรยากาศห้องเรียนอยู่ในทิศทางไหน หลังจากทำการสำรวจ ก็ได้ผลตามกราฟบน ของทั้งสองภาพ (มี 2 Workshops) ก่อน Setup ก็เปิด Mural โชว์ว่าเซตเป็น Private mode ซึ่งใครลากไปไว้ที่ตรงไหน จะไม่เห็นว่าจุดนี้เป็นของใคร นึกสภาพว่าถ้าคนที่ไม่อยากให้คนอื่นเห็นคะแนนตัวเองก็จะรู้สึกสบายใจมากขึ้นในการให้คะแนนตามความเป็นจริง โดยไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นให้คะแนนเท่าไหร่

หลังจากที่โหวตเสร็จ เราก็ทำการบอกผลให้ทุกคนเห็นว่า สภาพตอนนี้ห้องเรียนของเราเป็นยังไงบ้าง กลุ่มแรกมีคนที่ให้คะแนน 1 คะแนน และส่วนใหญ่ กองอยู่ที่ประมาณ 4 คะแนน ขึ้นไป เราช่วยตีความให้ว่า บางคนยังรู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดอะไร ตอนนี้ทำให้ทุกคนมี Awareness เห็นภาพเดียวกัน ก่อนที่จะเกริ่นเข้ากิจกรรม

สร้างพื้นที่ปลอดภัยจาก Self-Talk

หลังจากบอกผลสำรวจเสร็จ เราก็ Setup กิจกรรมต่อเลยว่า มันดีที่มีหลายๆคนที่มั่นใจ แต่เราอยากให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัย และอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมกิจกรรมถัดไปเพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่แสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องกังวลใดๆ

เพื่อให้คนรู้สึกปลอดภัย เราไม่มีเวลาเจอกันสามปีเพื่อที่จะสนิท แต่กิจกรรมถัดไปนี้ เป็นกิจกรรมที่เมื่อทุกคนให้คำสัญญาแล้ว ประตูอาจจะเปิดได้กว้างขึ้นสำหรับคนที่กำลังกลัวอยู่ เนื่องจากรัน Remote ผ่าน Zoom เราจะทำเหมือนเราอยู่ในห้องเดียวกันแบบจับมือกันเป็นวงกลม โดยการเอามือมาแตะกล้อง ล้อมกันเป็นวงกลม ส่วนกิจกรรม ผมจะพูดนำให้ แล้วให้ทุกคนพูดตาม

ขอเล่าแรงบันดาลใจเพิ่มเติม คือ โดยปกติเราแล้วจะเล่าเรื่องอะไรเนี่ย คือเราต้องมี Trust กับคนๆนั้นใช่มะ การสร้าง Trust มันอาจจะในรูปแบบของสัญญาใจ ว่าเราจะให้ความเคารพอีกฝ่าย และพูดออกมา อันนี้เป็นคลาสเรียน เราคงไม่สามารถใช้เวลากับทุกคนได้ เลยดีไซน์มาว่า งั้นเราพูดเชิงสัญญาให้กับคนทั้งหมดก็แล้วกัน

ผมเขียนบทพูดไว้ก่อน เพราะถึงเวลาจริง จะลืมเป้าหมายเอา อันนี้เป็นสคริปต์ Self-talk #1

วันนี้
ฉันอนุญาตให้ฉันเองได้แสดงความเห็น
โดยไม่ต้องกังวลว่ามันจะถูกหรือผิด

วันนี้
การพูดประโยคที่ไม่มั่นใจ
มันไม่เป็นไร

วันนี้
การถามคำถาม
มันไม่เป็นไร
เพียงแค่ถามคำถามออกมา

วันนี้
ฉันจะอยู่ข้างๆ สนับสนุนทุกคน
ในการแสดงความเห็น
ทุกคนรู้สึกสบายใจ
ในการแสดงความเห็น

วันนี้
ไม่ว่าเด็กกว่า แก่กว่า
มีประสบการณ์ หรือไม่มีประสบการณ์
ทำงานมานาน หรือเพิ่งทำงาน
คนใหม่ หรือ คนเก่า
วันนี้เราเป็นเพียงนักเรียน
นักเรียนที่เราจะมาเรียนรู้ด้วยกัน

และวันนี้
เรามาทำห้องเรียนให้สนุกไปด้วยกัน

ส่วนรัน Workshop ครั้งที่สอง ดีไซน์ให้กระชับขึ้น และปรับเปลี่ยนเนื้อหาในการ Self-talk เน้นไปที่สิ่งที่ตัวเองทำ (ซึ่งจะส่งผลต่อคนรอบข้างแบบอ้อมๆ) กับ ใช้เทคนิคเรื่องเวลา ลดจังหวะระหว่างประโยค ปรับโทนเสียง ในการสื่อสารกับตัวเอง เพิ่มขึ้น

วันนี้
ฉันอนุญาตให้ฉันเองได้แสดงความเห็น
โดยไม่ต้องกังวลว่ามันจะถูกหรือผิด
เราจะเรียนรู้ สนุกไปด้วยกัน

วันนี้
ทุกคนจะเป็นกันเอง
และความเห็นทุกคนที่พูด
ทำให้เราเรียนรู้ได้มากขึ้น
ความเห็นที่เราพูด
ทำให้ได้เรียนรู้และสนุกเช่นกัน

ความกังวลใจ
ที่รู้สึกอยู่ตอนนี้
กำลังละลายหายไป
กำลังละลายหายไป
กำลังละลายหายไป

ฉันรู้สึกปลอดภัย
ในการเรียนรู้วันนี้

ประเมินผลของการสร้างพื้นที่ปลอดภัย

แน่นอน การประเมินผลที่ดี จริงๆ อาจจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่สังเกตต่อว่าทั้งวันนั้นเป็นยังไงบ้าง แต่ว่า การประเมินผลแบบสำรวจอีกครั้งทันทีหลังจากทำ Self-Talk เสร็จ อย่างน้อยก็ช่วยประเมินสภาพบรรยากาศหลังกิจกรรมได้ว่ากิจกรรมนั้นพอที่จะช่วยหรือไม่ช่วยยังไง

ย้อนกลับไปดูที่กราฟล่างของทั้งสองภาพแรก จะเห็นได้ว่า บรรยากาศความรู้สึกปลอดภัยโดยรวม ขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี จากคะแนนต่ำสุดที่ 1 มาสู่คะแนนต่ำสุดที่ 4 คะแนน ซึ่งแน่นอน การสำรวจยังใช้วิธีแบบไม่สามารถระบุคนได้เช่นเดียวกัน ความ Bias อาจจะมีอยู่ก็ได้ เช่น เห็นใจผู้รันกิจกรรม เลยให้คะแนนที่ดีขึ้น แต่ก็มีการประกาศว่าสามารถให้คะแนนตามจริงได้เลย ดังนั้น ขอประเมินว่าสภาพคะแนนคร่าวๆ โดยรวมดีขึ้น

จุดที่น่าสังเกตคือ ในภาพแรก คนที่ให้คะแนนสูงกลับลดลง ผมไม่ได้ถามว่าทำไมคะแนนลดลง แต่ผมตั้งสมมุติฐานเอาเอง ว่า ตอนที่เรา Setup กิจกรรมนั้น เราบอกว่า ทุกคนจะเห็นว่า แต่ละคนนั้นมั่นใจไม่เท่ากัน การที่เราสื่อสาร อาจจะต้องระวังว่าทำให้คนที่เค้าไม่มั่นใจรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือเปล่า (ผมเดาเอาเองว่า อาจจะเป็นสาเหตุให้กลุ่มที่คะแนนสูงสุดลดคะแนนความมั่นใจลดลงมา) ส่วนครั้งที่สองนั้นผมไม่ได้พูดประโยคทำนองนี้ออกไป

จากความคิดของผม

ต้องบอกว่าจริงๆ กิจกรรมสร้างพื้นที่ปลอดภัยนี้ ถ้าเป็น Workshop เพื่อพัฒนาตัวเอง Self-Improvement, Self-talk, Coaching, Healing, Hypnotize อาจจะเห็นกิจกรรมแนวนี้เป็นปกติ ซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้จะชอบลักษณะการคุยกับตัวเองอยู่แล้ว แต่สำหรับรอบนี้ที่ต้องมาบันทึกไว้ เพราะต้องบอกว่า จริงๆ ผมยังไม่ค่อยมั่นใจในการรันกิจกรรมนี้กับกลุ่มคนทั่วไป เพราะผมเองก็มีภาพอยู่ในใจว่าเค้าอาจจะหาว่า บ้า เพี๊ยน ตลก หรือ นี่มันกิจกรรมล้างสมอง อะไรทำนองนี้ได้ แต่ก็ยังมองว่า เอาหละ เราลองดู อย่างน้อย ถ้าแย่ คงไม่แย่ไปกว่าเดิมมากนัก แต่ถ้าได้ประโยชน์ น่าจะช่วยให้คนที่เค้ากังวลใจ ได้รู้สึกสบายใจ และปลอดภัยมากขึ้น (ความปลอดภัยที่ทุกคนในห้องเรียนช่วยกันสร้างขึ้นมา) เลยตัดสินใจว่าลองทำดู สำหรับกิจกรรมระยะเวลาประมาณ 10 นาที ที่จะช่วยเซตโทนสภาพบรรยากาศตลอดการเรียนทั้งวันให้ได้

เอาหละครับ ก่อนจากกัน ถ้ามีใครนำไปลองใช้ก็อย่าลืมกลับมาบอกกันบ้างว่าผลเป็นอย่างไร หรือ ถ้ามีวิธีการอื่นๆ ก็รบกวนแนะนำผมด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *